วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2551

การดูแลผู้ป่วยสารระเหย

บทที่ 1
สถานการณ์สารระเหยในปัจจุบัน

1. ความเป็นมาและความสำคัญ
จากสถิติการเข้ารับการรักษาของศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดขอนแก่นในช่วงปีงบประมาณ 2545 ถึง 2547 สถิติการเข้ารับการบำบัดรักษาของผู้ป่วยประเภทสารระเหยเพิ่มขึ้นจาก 5 คน 13 คนและ 17 คน ตามลำดับ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นช่วงอายุระหว่าง 10 - 25 ปี โดยผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นทางสายใหม่ ( Fast Model ) มากที่สุด จากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในปีงบประมาณ 2545 มี จำนวนวนผู้เข้ารับการรักษา 62 คน ปีงบประมาณ 2547 มีจำนวน 182 คน ในปัจจุบันสารระเหยเป็นยาเสพติดที่มีราคาถูก หาได้ง่าย นั่นคือ สารระเหย ชนิดต่าง ๆ เช่น ทินเนอร์ผสมสี น้ำมันเบนซิน น้ำมันไฟแช็ก น้ำมันก๊าด น้ำมันแล็กเกอร์ กาวชนิดต่างๆน้ำมันชักเงา ยาทาเล็บ ตลอดจนสเปรย์ชนิดต่าง ๆ จะทำให้ร่างกายเกิดพยาธิสภาพที่ถาวร เป็นความพิการที่ไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนสู่ปกติได้ นอกจากนี้ ยังมีพวกเด็กนักเรียน มัธยมต้นและมัธยมปลาย มีแนวโน้มว่า มีการเสพติดสารระเหยนี้กันอย่างแพร่หลาย มักจะเสพกันเป็นกลุ่มในสถานที่ต่างๆเช่น วัด หรือห้องที่ลับตาคน โดยใช้สำลี ผ้าเช็ดหน้าหรือเสื้อยืด ชุบทินเนอร์จนชุ่ม แล้วสูดดมเข้าปอด หมุนเวียนส่งต่อไปจนเมามาย เป็นสิ่งที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง ผู้ใหญ่ที่เห็นหรือทราบมา ก็ไม่ค่อยใส่ใจ เพราะคิดว่าคงไม่มีอันตรายร้ายแรง บางคนใช้วิธีฉีดสเปรย์เข้าตู้เสื้อผ้าหรือตู้ลับ แล้วยื่นหน้าเข้าสูดดม และเห็นว่ายาเสพติดพวก "สารระเหย" นี้ มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ของใช้แทบทุกครัวเรือนหรือหาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูกประกอบทั้งทุกชนิดมีกลิ่นหอมที่ประชาชนทั่วไป จำนวนไม่น้อยชอบกลิ่นของมัน จึงทำให้เสพติดได้ง่าย ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการโดยเฉพาะเด็ก ๆ นักเรียนทั้งชาย หญิง และประชาชนทั่วไป ยังไม่ทราบถึงพิษภัยอันร้ายแรงของสารระเหย จึงเห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญ สารระเหย จะเกิดพิษร้ายต่อร่างกายได้ 2 แบบ คือ พิษระยะเฉียบพลันและพิษระยะเรื้อรัง เมื่อสูดดมเข้าไปในปอด ก็จะถูกดูดซึมเข้าไปในหลอดโลหิตไหลเวียนไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และไปออกฤทธิ์โดยตรง ด้วยการไปกดสมองส่วนกลาง ดังนั้น พอสูดดมสารระเหยอย่างต่อเนื่องจะออกฤทธิ์ด้วยการไปกดสมองส่วนกลาง โดยเฉพาะไปกดที่ศูนย์ควบคุมการหายใจ ทำให้หยุดหายใจ สารระเหยไปออกฤทธิ์ต่อหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วไม่เป็นจังหวะ พิษของสารระเหยหากเสพเป็นเวลานาน ๆ จะมีอาการลักษณะคล้ายคนเมาสุรา คือ เวียนศีรษะ ตาพร่า ตาขวาง เดินโซเซ ง่วงซึม จิตใจครึกครื้น เห่อเหิม คึกคะนอง มีหูแว่ว ภาพหลอน ประสาทหลอน ความคิดแบบหลงผิดและหากสูดดมต่อไปจะค่อย ๆ หมดสติ จนถึงขั้นโคม่าและตายได้ จากผลกระทบดังกล่าว จึงมีการพัฒนารูปแบบการรักษาให้มีประสิทธิภาพและลดระยะเวลาการบำบัดรักษาให้สั้นลง จึงสนใจทำการศึกษาตามกระบวนการฟื้นฟูแบบเข้มข้นทางสายใหม่ โดยนำเอาองค์ประกอบทั้ง 4 ด้าน มาดำเนินการ ได้แก่ ครอบครัว F = Family กิจกรรมทางเลือกในการบำบัดรักษา A = Alternative Treatment Activity การช่วยเหลือตนเอง S = Self Helf และชุมชนบำบัด TC = Therapy Community ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงเล็งเห็นความสำคัญและสนใจที่จะศึกษาผู้ป่วยเฉพาะรายเรื่องการดูแลผู้ป่วยติดสารระเหยตามกระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นทางสายใหม่เพื่อลดปัญหาสังคม ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพจิตของผู้ติดยาและครอบครัวได้
2. วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1. เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานของผู้ป่วยที่ติดสารระเหยเกี่ยวกับขั้นตอนการดูแลในการบำบัดรักษาให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ
2. เพื่อให้รู้จักการใช้รูปแบบการรักษาผู้ป่วยติดสารระเหยตามกระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นทางสายใหม่ได้อย่างถูกต้องและเลือกกิจกรรมบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่ติดสารระเหย
3. เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพของการพยาบาลผู้ป่วยสารระเหย
4. เพื่อใช้เป็นแนวทางในการฝึกอบรมนักศึกษาพยาบาล หรือบุคลากร ด้านสาธารณสุข เพื่อประกอบในการศึกษาค้นคว้า เพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ และสามารถวางแผนการดูแลผู้ป่วยสารระเหย
3. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้ป่วยได้รับบริการทางการพยาบาลที่ถูกต้อง รวดเร็ว มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษา
2. ผู้ป่วยและครอบครัวมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการรักษา ขั้นตอนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ การฝึกความรับผิดชอบในการทำงาน ขณะที่อยู่บำบัดและเมื่อกลับไปอยู่บ้าน
3. ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการแนะนำที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการดูแลตนเอง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคมต่อไป
4. ผู้ป่วยและครอบครัวรู้วิธีป้องกันตนเองเพื่อป้องกันการกลับไปเสพสารเสพติดซ้ำ
5. บุคลากรทางการพยาบาลนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยติดสารระเหยตามกระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นทางสายใหม่
บทที่ 2
สารระเหย
1. ความหมายของยาเสพติดประเภทสารระเหย
ความหมาย “ สารระเหยเป็นสารประกอบอินทรีย์เคมีพวก Hydrocarbon มีลักษณะเป็นไอระเหยง่าย กลิ่นหอม เมื่อสูดดมเข้าไปบ่อย ๆ จะทำให้เกิดการเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ”
“ ผู้ติดสารระเหย ” หมายความว่า ผู้ซึ่งต้องใช้สารระเหยบำบัดความต้องการของร่างกายหรือจิตใจเป็นประจำ โดยสามารถตรวจสอบพบสภาพเช่นว่านั้นได้ตามหลักวิชาการ
สารระเหยเป็นสารประกอบอินทรีย์เคมีพวก Hydrocarbon ที่ได้มาจากขบวนการผลิตน้ำมันปิโตเลียม และก๊าซธรรมชาติ มีลักษณะเป็นไอ ระเหยง่าย มีกลิ่นหอม เมื่อสูดดมเข้าไปบ่อยๆ จะก่อให้เกิดการเสพติด
องค์การอนามัยโลกได้จำแนกสารระเหย (Volatile Solvent ) เช่น Toluene , Acetone เป็นยาหรือสารที่สามารถมีปฏิกิริยาต่อร่างกาย ทำให้เกิดการติดยาทางจิตใจ ( Psychic dependence )
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สารระเหยเป็นสารประกอบเคมีพวกไฮโดรคาร์บอน มีคุณสมบัติระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง ได้มาจากปิโตเลียมและก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนการสังเคราะห์ทางเคมี สาระเหยมักนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมเป็นส่วนประกอบในน้ำมันใส่ไฟแช็ค สีทาบ้าน น้ำยาสำหรับทำความสะอาด น้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน และกาว
2. ประเภทของสารระเหยตามสูตรโครงสร้างทางเคมี
ที่ใช้กันมากในทางอุตสาหกรรม ได้แก่
- ทินเนอร์ แลคเกอร์ ซึ่งมีส่วนประกอบต่างกันไป โดยส่วนประกอบส่วนใหญ่ ได้แก่ Toluence Acetone , Benzene และ Alcohol ชนิดต่างๆ
- น้ำยาทาเล็บ , ล้างเล็บ และเครื่องสำอางค์บางประเภท
- น้ำมันไฟแช็ค , น้ำยาทำความสะอาด
- กาวอุตสาหกรรมทำยาง , อุตสาหกรรมทำพลาสติก
- สารแต่งกลิ่นบางชนิด
3. คุณสมบัติทางกายภาพ
สารระเหยเกือบทุกชนิด จะเป็นของเหลวมีกลิ่นเฉพาะตัวหรือกลิ่นหอม ระเหยได้ดี
มีความหนืดต่ำ ค่าแรงดึงผิวต่ำ บางตัวติดไฟได้ ลักษณะไม่มีสี ใส ไม่มีตะกอน ละลายน้ำได้ดีในไขมัน
4. ปัจจัยที่ทำให้ใช้สาระเหยมีดังนี้
1. จากการถูกชักชวน เยาวชนส่วนใหญ่มีสัญชาตญาณต้องการอยู่ร่วมกัน ต้องการได้รับการยกย่อง และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของหมู่คณะ ฉะนั้นถ้าเพื่อนฝูงชักชวนให้ลองย่อมขัดไม่ได้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนที่เข้ากับเพื่อนไม่ได้ จึงทำให้เยาวชนต้องยอมใช้ยาเสพติดตามการชักชวนของเพื่อน ซึ่งมีหลักฐานสนับสนุนที่แน่ชัด โดยผลจากการศึกษาวิจัยของทางราชการ พบว่า เยาวชนติดยาเสพติดเพราะถูกเพื่อนชักจูงมีถึง 77% ประกอบกับเยาวชนวัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้อย่าลองจึงง่ายต่อการชักชวนมากขึ้น
2. จากอยากลอง ความอยากรู้อยากเห็น อยากลอง อยากรู้รสชาติ อยากสัมผัส เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ โดยคิดว่าคงไม่ติดง่ายๆ แต่เมื่อลองเสพเข้าไปแล้วมักจะติด เพราะยาเสพติดในปัจจุบัน เช่น เฮโรอีน ติดง่ายมาก เพียงเสพไม่กี่ครั้งก็ติดแล้ว
3. จากสภาพความกดดันในครอบครัว มีส่วนผลักดันให้สมาชิกในครอบครัวหันไปใช้ยาเสพติดได้ ซึ่งความกดดันในครอบครัวมีแตกต่างกันไป เช่น พ่อแม่ทะเลาะกันทุกวัน ลูกเกิดความรำคาญใจที่เห็นสภาพเช่นนั้น ทำให้เบื่อบ้าน จึงทำให้ใช้เวลาว่างที่มีไปคบเพื่อนนอกบ้านจนกว่าจะถึงเวลานอนจึงกลับบ้านและในที่สุดก็หันไปสู่ยาเสพติด พ่อแม่หย่าร้าง ต่างคนต่างมีภรรยาหรือสามีใหม่ ทำให้ขาดความสนใจในลูกเท่าที่ควร เด็กในวัยรุ่นส่วนใหญ่มีความกดดันสูง ประกอบกับความน้อยใจว่าพ่อแม่ไม่รัก รู้สึกว้าเหว่ จึงได้หันไปใช้ยาเสพติด พ่อแม่ที่ไม่เข้าใจลูก เยาวชนที่หันไปใช้ยาเสพติดมิใช่ว่ามีเฉพาะเยาวชนที่ยากจน อยู่ในสถานกำพร้า หรือครอบครัวแตกแยกเท่านั้น เยาวชนที่มีพ่อแม่ร่ำรวยก็มีโอกาสติดยาเสพติดได้ เพราะความที่พ่อแม่ไม่เข้าใจลูก คิดว่าหากต้องการอะไรพ่อแม่ก็หาให้ได้โดยใช้เงินแต่ความจริงเด็กหรือเยาวชนก็มีจิตใจอยากร่วมกันรับรู้ในกิจกรรมของครอบครัวต้องการให้พ่อแม่ยกย่องเมื่อทำกิจกรรมดี เช่น สอบไล่ได้ที่ดีๆ หรือได้รับคำชมเชยเมื่อช่วยเหลือผู้อื่น ย่อมต้องอยากเล่าให้พ่อแม่ฟังในเรื่องราวต่างๆ แต่ปรากฏว่าเมื่อกลับมาถึงบ้านพ่อแม่มีภารกิจมาก ไม่มีเวลาให้ลูก หรือทำความดีก็ไม่เคยรู้ เมื่อเป็นเช่นนี้บ่อยๆ เด็กก็เสียใจ ในที่สุดก็กลายเป็นคนเงียบขรึม ว้าเหว่ และหันไปใช้ยาเสพติดได้ พ่อแม่ที่แสดงออกในการรักลูกไม่เท่ากัน การเอาใจใส่ที่แสดงออกต่อลูกทุกคนควรเหมือนกันและพ่อแม่ที่มีลูกหลายคนไม่ควรตั้งความหวังสูงจนเกินไป อยากให้ลูกเรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 ทุกคนต้องการเช่นนี้ แต่ควรยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าการเรียนเก่งนั้นขึ้นอยู่กับหลายๆ ประการ เช่น สติปัญญา ความเอาใจใส่ของเด็กเอง ฉะนั้น เมื่อมีลูก 2-3 คน อาจจะบางคนเรียนเก่ง ลูกคนที่เรียนไม่เก่งก็ไม่ควรได้รับการตำหนิจากพ่อแม่ เพราะสติปัญญาคนเราไม่เท่ากัน มีพ่อแม่บางคนพยายามชมเชยยกย่อง ลูกคนเรียนเก่งให้ลูกที่เรียนไม่เก่งฟังเสมอๆ
4. ทางกาย ความเจ็บป่วยทางกาย เช่น ต้องถูกผ่าตัดหรือเป็นโรคปวดศีรษะ เป็นโรคประสาทเป็นหืด ได้รับความทรมานทางกายมาก ผู้ป่วยต้องการบรรเทา พยายามช่วยตัวเองมานานไม่หาย จึงหันเข้าหายาเสพติดจนติดยาในที่สุด
5. จากความคะนองบุคคลประเภทนี้มีความอยากลอง ซึ่งรู้แน่แก่ใจว่ายาเสพติดให้โทษไม่ดี แต่ด้วยความคะนองเพราะเป็นวัยรุ่นไม่เกรงกลัวอะไร ต้องการแสดงความเก่งกล้าอวดเพื่อน ขาดความยั้งคิด จึงชักชวนกันเสพจนติดในที่สุด
6. จากความจำเป็นในอาชีพบางอย่าง เช่น ช่างทาสี ทำเฟอร์นิเจอร์ ช่างทำเล็บ ช่างทำรองเท้า ที่ต้องสัมผัสสูดดมสารระเหยอยู่เป็นประจำ
7. จากปัญหาเศรษฐกิจ คือ การไม่มีงานทำหรือมีรายได้ไม่พอรายจ่าย รวมทั้งใช้จ่ายเงินเกินตัวทำให้เกิดภาวะเครียดไม่สามารถเผชิญความเครียดได้อย่างเหมาะสมจึงใช้สิ่งเสพติดต่างๆ เพื่อระงับความเครียดเท่าที่จะหาได้รวมทั้งสารระเหย
8. จากสิ่งแวดล้อม มีผู้ติดยาเสพติดจำนวนไม่น้อย มีความตั้งใจที่จะพยายามเลิกเสพ โดยเข้ารับการบำบัดรักษาจากทั้งภาครัฐและเอกชน แต่เมื่อหายแล้วปรากฏว่าสังคมไม่ยอมรับ เช่น ในครอบครัวตนเองยังแสดงท่าทีดูถูกเหยียดหยามรังเกียจ หรือไปสมัครเข้าทำงานก็ถูกปฏิเสธ เนื่องจากมีประวัติเคยติดยาเสพติดคนเหล่านี้จำเป็นต้องมีชีวิตอยู่รอดดังนั้นเมื่อสังคมไม่ยอมรับจึงหันกลับไปอยู่ในสังคมยาเสพติดเช่นเดิม
9. จากอยู่ในแหล่งที่มียาเสพติด สถานที่อยู่อาศัย ที่อยู่ใกล้แหล่งที่มีการมั่วสุมยาเสพติดและค้ายาเสพติดก็อาจเป็นสาเหตุให้ถูกชักจูงหรือล่อลวงให้ติดยาเสพติดได้ง่าย
10. ขาดความรู้ในเรื่องสารระเหยคนบางคนทดลองเพราะไม่รู้จักและไม่มีความรู้เรื่องยาเสพติดบางคนอาจเคยได้ยินโทษพิษภัยของยาเสพติด แต่ไม่รู้จักชื่อต่างๆ ที่ใช้เรียกอาจถูกหลอกให้ทดลองใช้และเกิดเสพติดขึ้นได้ เช่น คนส่วนใหญ่รู้ว่ากาวและทินเนอร์เป็นยาเสพติดและไม่คิดจะลอง แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่ากาวและทินเนอร์เมื่อเพื่อนมาชักชวนว่าให้ลองดมแล้วจะทำให้อารมณ์ดีจึงได้ลองเสพโดยไม่ทราบว่ามันจะเป็นอันตราย นอกจากนี้ถ้าคนเรามีความรู้เรื่องการใช้ยาบ้างก็จะไม่ใช้ยาที่ไม่มีฉลากสาเหตุใหญ่ๆที่กล่าวมาแล้ว คนที่จิตใจอ่อนแอ อ่อนไหวง่ายก็ติดยาง่าย ดังตัวอย่างข้างต้นสาเหตุที่ทำให้บุคคลหนึ่งไปติดสารระเหยอาจมิใช่จากสาเหตุเดียวแต่อาจเกิดได้จากปัจจัยหลายๆ ประการก็ได้
จากสาเหตุที่สารระเหยนั้นมีฤทธิ์ทำให้เสพติดได้เอง ก็จะต้องป้องกัน โดยอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็ก อย่าให้เด็กทดลองเสพหรือดมสารระเหยโดยเด็ดขาด เพราะติดง่ายและหายได้ยากมากถ้าได้รับการรักษาแล้วก็อาจมีการติดซ้ำได้อีกโดยง่าย ควรให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกับยาเสพติดประเภทสารระเหยให้เข้าใจถึงอันตรายที่จะเกิดแก่ร่างกายและจิตใจ
5. วิธีเสพ
ที่เข้าสู่ร่างกายได้เร็วที่สุด คือ การสูดดมซึ่งพบว่า สารที่มีค่าแรงดึงผิวต่ำ ยิ่งสามารถแพร่กระจายได้เร็ว สารยิ่งมีความหนืดต่ำยิ่งสามารถแทรกตัวเข้าไปในแขนงปอดได้ดีกว่า เข้าสู่ร่างกายโดยทางเดินหายใจ เข้าสู่กระแสโลหิต แล้วแพร่กระจายไปทั่วร่างกายไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบของไขมัน เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง ตับ ไต หัวใจ กล้ามเนื้อ ฯลฯ สารบางชนิด เช่น Toluene บางส่วนจะถูกกำจัดออกทางปอด ( ทางเดินหายใจ ) โดยไม่เปลี่ยนแปลง จึงได้กลิ่นจากการหายใจ บางส่วนที่เหลือจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ตับเปลี่ยนเป็นกรด และขับถ่ายออกทางไต
6. กลไกการออกฤทธิ์
สูดดม ดูดซึมเข้ากระแสเลือด เนื้อเยื่อ สมอง
อาการทางร่างกายของผู้สูดดม เมื่อสูดดมเข้าไป ฤทธิ์ยาดูดซึมเข้ากระแสเลือดทำให้การทำงานของอวัยวะในระบบต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอีกรูปแบบหนึ่ง จนร่างกายเกิดความเคยชิน เช่น กดสมองส่วนกลาง กดความรู้สึกทำให้รู้สึกผ่อนคลายความเจ็บปวด และถ้าขาดยาเสพติดทำให้ผู้สูดดม เกิดอาการผิดปกติของร่างกาย เรียกว่า อาการอยากยา (Withdrawal Symptom) ซึ่งจะมีความรุนแรงมากจนผู้สูดดมไม่สามารถทนได้ ทำให้เสาะแสวงหาสารระเหย เพื่อระงับอาการให้ร่างกายทำงานในระบบเดิมต่อไป
7. ผลการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
1. ระบบทางเดินหายใจ มีอาการระคายเคืองหลอดลม เยื่อบุจมูกมีเลือดออก หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ
2. ระบบทางเดินอาหาร มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เนื้อตับถูกทำลาย
3. ระบบทางเดินปัสสาวะ ไตอักเสบจนถึงพิการ ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นหนอง หรือมีลักษณะคล้ายไข่ขาว
4. ระบบหัวใจและหลอดเลือด หัวใจเต้นผิดปกติ
5. ระบบสร้างโลหิต ไขกระดูกซึ่งมีหน้าที่สร้างเม็ดโลหิตหยุดทำงานเกิดเม็ดโลหิตแดงต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
6. ทำให้ซีด เลือดออกได้ง่าย ตลอดจนทำให้เลือดแข็งตัวช้า ในขณะที่เกิดบาดแผล บางรายเกิดเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาว
7. ระบบประสาท ปลายประสาทอักเสบ มีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า เกิดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ทำให้ลูกตาแกว่ง ลิ้นแข็งพูดลำบาก สมองถูกทำลายจนเซลล์สมองฝ่อ เป็นโรคสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร
8. ระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อฝ่อลีบ จนถึงกับเป็นอัมพาตได้
9. ระบบสืบพันธุ์ ทำให้เด็กที่เกิดมาจากผู้ติดสารระเหย มีอาการไม่สมประกอบ
8. ลักษณะของผู้เสพติดสารระเหย
สภาพทั่วไปทางด้านร่างกาย
- ร่างกายผอม ตาแดง พูดจาอ้อแอ้
- แต่งกายไม่เรียบร้อย สกปรก
- มีอาการซึม ง่วงนอน
- กล้ามเนื้อที่แขนขาลีบ จนถึงเป็นอัมพาต
- สั่นกระตุก
- ผิวหนังเปื่อยเป็นแผล
- หน้าอกแฟบ
- โพรงจมูกยุบหรืออักเสบ
- น้ำมูกไหล
- บริเวณริมฝีปากถลอก
สภาพทั่วไปทางด้านจิตใจ
- หวาดระแวง หวาดกลัว หลงผิด หูแว่ว พูดคนเดียว เหม่อลอย
9. ผลกระทบของสารระเหย
1. ต่อผู้เสพเอง
ทำให้สุขภาพทรุดโทรม มีโรคแทรกต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ตับแข็ง วัณโรค โรคผิวหนัง เสียเศรษฐกิจของตน โดยต้องเสียเงินเพื่อซื้อหาสารระเหยมาเสพให้ได้ เป็นบุคคลไร้สมรรถภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เฉื่อยชาเกียจคร้าน บางคนทำงานไม่ได้ บุคลิกภาพไม่ดีมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีและอาจประสบอุบัติเหตุได้
2. ต่อครอบครัว
ความรับผิดชอบต่อครอบครัวหรือญาติพี่น้องหมดไป ครอบครัวหมดความสุข และเป็นภาระต่อบุคคลในครอบครัว รวมทั้งทิ้งภาระหนักให้ครอบครัวหากต้องพิการหรือเสียชีวิต ทำความเดือดร้อนให้ครอบครัว และความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัว3. ต่อสังคมหรือชุมชน
เป็นที่รังเกียจของสังคมหรือชุมชน ไม่มีใครอยากคบด้วย เข้าสังคมไม่ได้ เป็นอาชญากร เพราะผู้ติดยาต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้ยาเสพติด ซึ่งช่วงแรกๆ อาจขอยืมเพื่อนแต่ต่อมาเพื่อนไม่ให้ยืม เพราะยืมแล้วไม่ใช้ ในที่สุดก็ต้องลักขโมยของในบ้านไปขาย เพื่อหาเงินมาซื้อ และนานๆ เข้าก็ต้องลักขโมยของผู้อื่นไปขายหรือวิ่งราวชาวบ้าน ในที่สุดอาจถึงขั้นจี้ชิงทรัพย์ ซึ่งพบข่าวอาชญากรรมในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ4. ต่อประเทศชาติ
4.1 ทำลายเศรษฐกิจของชาติ เพราะสารระเหยคนหนึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 50 บาทต่อวันถ้า
5 แสนคนจะประมาณ 25 ล้านบาทต่อวัน หรือ 750 ล้านบาทต่อ 1 เดือน หรือ 9 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ได้อย่างมากมาย แต่กลับต้องมาสูญเสียในกิจการเช่นนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
4.2 บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ ผู้ติดยาเสพติดจะมีสุขภาพทรุดโทรมทั้งร่างกายและจิตใจตามฤทธิ์ของยาและมีความคิดคำนึงเพียงต้องมียาเสพติดให้ได้เมื่อเวลาอยาก ฉะนั้น ถ้าประเทศใดมีเยาวชนซึ่งจะเป็นพลังของชาติในอนาคตติดยาเสพติดมากก็เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศมากซึ่งต้องระมัด ระวังผู้ที่ไม่หวังดีต่อชาติ จะใช้ยาเสพติดเป็นเครื่องมือ เพื่อทำลายความมั่นคงของประเทศ
จากการศึกษายังพบว่า เด็กและเยาวชนที่มาติดสารระเหยมักจะมาจากครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ดี ครอบครัวขาดความรัก ความอบอุ่น มีปัญหาทางด้านจิตใจ บุคลิกภาพอ่อนแอ เพื่อนชักชวนและขาดความรู้เรื่องพิษภัยของสารระเหยจึงใช้สูดดมสาระเหยเป็นกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายทางด้านจิตใจและมีแนวโน้มว่าผู้ป่วยเสพสารระเหยจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ศึกษาจึงได้เลือกศึกษาผู้ป่วยเสพติดสารระเหยที่มีอาการทางจิตมาเป็นกรณีตัวอย่างและเป็นแนวทางในการให้การรักษาผู้ป่วย ที่มีภาวะซึมเศร้าเสพสารระเหยซ้ำ
10. ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
เป็นพฤติกรรมเริ่มแรกของนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับความรักและพฤติกรรมนั้นจะมีผลต่อสัมพันธภาพของบุคคลนั้นกับผู้อื่นในอนาคตใช้อธิบายพฤติกรรมความผูกพันดังต่อไปนี้
1. ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory)
2. ทฤษฎีเผ่าพันธุ์ศึกษา (Ethological Theory)
3. ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning Theory)
1. ทฤษฎีจิตวิเคราะห์
ทฤษฎีจิตวิเคราะห์เป็นทฤษฎีที่อธิบายว่า การแสดงพฤติกรรมความผูกพันเป็นการตอบสนองตามสัญชาตญาณของมนุษย์ เพื่อให้มีการดำรงซึ่งสัมพันธภาพ ทั้งนี้การแสดงความผูกพันเป็นการแสดงถึงความต้องการ (Drive) ของเด็กที่มีมารดาเป็นเป้าหมาย ทฤษฎีนี้กล่าวว่าบุคคลจะมีการพัฒนาการความรู้สึกผูกพันกับมารดา ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่เขาใกล้ชิด ต่อเมื่อบุคคลนั้นรู้สึกผูกพันกับมารดาได้แล้วอย่างมั่นคงในวัยเด็ก เขาจึงสามารถมีสัมพันธภาพที่มั่นคงกับบุคคลอื่นๆ และผูกพันกับบุคคลอื่นๆ ในวัยต่อมาได้ ถ้าเมื่ออยู่ในวัยเด็กบุคคลนั้นไม่มีความรู้สึกผูกพันกับมารดาหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก เขาจะมีปัญหาสัมพันธภาพกับผู้อื่นในวัยต่อมา
2.ทฤษฎีเผ่าพันธุ์ศึกษา
ผู้ที่ได้สังเกตศึกษาพฤติกรรมสัตว์ อธิบายว่าพฤติกรรมมนุษย์และสัตว์ที่แสดงความผูกพันมีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะสัตว์แรกเกิดมีพฤติกรรมที่เฉพาะเรียกว่า "ติดตรึง" (Imprint) ซึ่งสัตว์แรกเกิด เช่น ลูกเป็ด จะเดินตามติดสิ่งที่มันเห็นเคลื่อนไหวทันทีที่มันออกจากไข่ พบว่าถ้าสิ่งที่เคลื่อนไหวนั้นเป็นคนมันก็จะเดินตามคนไปไม่ยอมห่าง กล่าวว่าพฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมตามสัญชาตญาณของสัตว์ที่ตอบสนองความต้องการด้านสรีรวิทยา และการอยู่ร่วมกันของฝูงเป็ด จะพบพฤติกรรมดังกล่าวได้ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นกัน ลูกสัตว์แรกเกิดจะอยู่เคล้าเคลียแม่ของมันไม่ยอมห่าง เป็นพฤติกรรมที่สัตว์แรกเกิดที่ยังอ่อนแอเข้าไปอยู่ใกล้ชิดสัตว์ใหญ่ที่เป็นแม่เพื่อรับการคุ้มครองและได้รับอาหาร เป็นการกระทำตามสัญชาตญาณเพื่อการรอดชีวิตของสัตว์เล็กช่วงที่ยังช่วยตัวเองได้น้อย
มนุษย์มีการแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างจากสัตว์อยู่บ้าง ทารกจะมีการแสดงออกโดยการดูดนมมารดา เคล้าเคลีย ร้องให้หา ยิ้มให้ ตามติดชิดใกล้บุคคลที่เขาผูกพัน ร้องให้อุ้ม เล่นด้วย ทั้งหมดเป็นการตอบสนองความต้องการด้านจิตใจและร่างกายไปพร้อมๆ กัน พบได้ในมนุษย์ทุกกลุ่มชน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างของขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างไร
3.ทฤษฎีการเรียนรู้
ทฤษฎีการเรียนรู้ได้กล่าวถึงความรู้สึกผูกพันเกิดขึ้นเนื่องจากเด็กเรียนรู้ว่ามารดาเป็นผู้ที่ตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกายและจิตใจให้แก่ตนได้เด็กพบว่ามารดาให้ทั้งความอิ่มหนำสำราญความ สุขสบายและความรักใคร่ที่อบอุ่นแก่ตน จึงเกิดพฤติกรรมตอบสนองคือความผูกพันกับผู้นั้น ถ้าผู้เลี้ยงดูเด็กใกล้ชิด ไม่ใช่มารดาแต่เป็นคนที่แสดงบทบาทเช่นเดียวกับมารดา เด็กก็ยังมีพฤติกรรมแสดงความผูกพันกับผู้เลี้ยงที่ไม่ใช่มารดาอยู่นั้นเอง
จากสามทฤษฎีที่เสนอมานี้ อาจพอประมวลได้ว่า พฤติกรรมการแสดงความผูกพันนี้มีพื้นฐานจากสัญชาตญาณและการเรียนรู้ของเด็กที่จะช่วยให้ตนมีชีวิตรอด โดยเป็นการเรียนรู้ตามสัญชาตญาณที่พึ่งพาบุคคลที่ตนผูกพันด้วย นอกจากจะช่วยให้เด็กได้รับความอบอุ่นทางจิตใจด้วย การที่เด็กมีพฤติกรรมการแสดงความผูกพันนี้กระตุ้นให้มารดาหรือผู้เลี้ยงดูผูกพันกับเด็กมากขึ้นการที่เด็กและมารดามีความรู้สึกผูกพันกันนี้เป็นกลไกธรรมชาติสำคัญที่จะอนุรักษ์เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป โดยผู้ใหญ่จะผูกพันและปกป้องทารกผู้อ่อนแอกว่า ในขณะเดียวกันทารกจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้รับการดูแลจากผู้ใหญ่ส่วนความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวอื่นๆ นั้นมีความแตกต่างจากความผูกพันระหว่างบิดารมารดาและบุตร โดยหลักการแล้วความสัมพันธ์ดังกล่าวมีพื้นฐานจากบทบาทหน้าที่ และความรักที่แสดงต่อกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว
11. การป้องกันจากสารระเหย
1. การป้องกันทางด้านร่างกาย สาเหตุทางร่างกายส่วนมากจะเกิดการเจ็บป่วยและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจจะเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่รู้ เช่น ในคนที่ป่วยเป็นโรคหืด ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและรักษาให้หายขาดได้ยาก เมื่อเป็นหลายๆ ครั้งเข้าคนไข้ก็มักจะเบื่อหน่าย ไม่อยากไปรักษาที่โรงพยาบาล ก็หันมาทดลองยาทุกชนิด และมีผู้แนะนำ สุดท้ายก็หันเข้าหายาเสพติด เพราะยาเสพติดจะมีอำนาจระงับอาการของโรคได้บ้าง ก็เลยติดยาเสพติดด้วย
2. การป้องกันทางจิตใจ ป้องกันตั้งแต่ยังเด็ก โดยปลูกฝังสุขภาพจิตให้มั่นคง เข้าใจจิตใจของเด็กว่ามีความต้องการอะไรบ้าง ถ้าเด็กได้รับสิ่งที่ต้องการตามสมควร เด็กก็จะเกิดความอบอุ่นมั่นคงทางจิตใจ เพราะฉะนั้นการป่วยเป็นโรคทางใจจะไม่เกิดขึ้นด้วย พยายามปรับปรุงแก้ไขภาวะภายในครอบครัวให้เด็กเข้าใจว่าเป็นบ้านที่อบอุ่น เป็นที่พึ่ง เป็นสถานที่ที่เขาจะได้รับความสบายใจพอใจและมีความสุข พ่อแม่รักใคร่ปรองดองกันดี ไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน ในเมื่อเขาได้รับความรักและการป้องกันคุ้มครองอย่างดีแล้ว เขาก็จะมีชีวิตที่อบอุ่นมั่นคง ไม่ต้องอาศัยยาเสพติดเลย
สรุป
สารระเหยเป็นสารที่ทำให้เกิดการรับรู้ผิดปกติที่เป็นอันตรายอาจถึงชีวิตได้ สารระเหย จะซึมซาบเข้าสู่ปอดอย่างรวดเร็วและส่งผลไปที่ระบบประสาทส่วนกลาง ภายใน 2 -3 วินาที ต่อจากนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจภายใน 5 -15 นาที อาการที่พบ ได้แก่ อาการครื้นเครง ตื่นเต้น ขาดการยับยั้งชั่งใจ ก้าวร้าว อาจตายอย่างกะทันหัน จากหัวใจ เต้นไม่เป็นจังหวะ ศูนย์การหายใจถูกกด กล้ามเนื้อกระตุกและชัก (ภัณฑิลา อิฐรัตน์, 2547) การป้องกันการใช้สารระเหย ควรให้ความสำคัญกับผู้ป่วยได้มีความรู้เกี่ยวกับ โทษและผลกระทบของสารระเหยจะทำให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญในการเลิกยาเสพติดนั่นเอง
บทที่ 3
การดูแลผู้ป่วยติดสารระเหยตามกระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นทางสายใหม่

เป็นการดูแลผู้ป่วยติดสารระเหยแบบองค์รวม คือ การดูแลทั้งทางร่างกาย จิตใจสังคม ซึ่งมีความแตกต่างจากพยาบาลผู้ป่วยทางกาย เนื่องจากผู้ป่วยมีความเจ็บป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน โดยที่ตนเองมองไม่เห็นปัญหาของตนเองว่าเจ็บป่วยอย่างไร กลับมองเห็นว่าเป็นการดมกาว เข้าสู่ร่างกายเป็นสิ่งที่พึงพอใจ ไม่ต้องแสวงหาวิธีการบำบัดรักษาแต่อย่างใด จึงทำให้การรักษาพยาบาลได้ลำบาก พยาบาลต้องมีความรู้ ความเข้าใจสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยยอมรับตัวเองให้ได้ว่า ปัจจุบันผู้ป่วยต้องการอะไร โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษาถึงจะส่งผลในการบำบัดรักษาให้มีประสิทธิภาพส่งเสริมให้ร่างกายและจิตใจดีขึ้น ดังนั้น พยาบาลจึงต้องมีหน้าที่ให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยให้บริการปรึกษารายกลุ่ม รายบุคคล ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลแก้ไขปัญหา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ของผู้ป่วยตลอดจนการติดตามหลังการรักษาและป้องกันการติดซ้ำ โดยใช้หลักการพยาบาลที่ประกอบทั้งความรู้ความสามารถในการประยุกต์เข้าด้วยกันเพื่อที่จะให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพการบำบัดรักษา มีเป้าหมายการกลับสู่สังคมดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข การดำเนินการทั้งในรูปแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในมีขั้นตอนการบำบัด 4 ขั้นตอน โดยใช้แนวทางการบำบัดรักษาผู้ติดยาและสารเสพติดแบบผู้ป่วยใน
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมการก่อนการรักษา เป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อให้การบำบัดผู้ป่วยประสบผลสำเร็จ ผู้ป่วยต้องมีความตั้งใจสูงและยอมรับว่าจำเป็นต้องแก้ไขพฤติกรรมของตนเอง โดยผู้บำบัดทำความตกลงกับผู้ป่วยให้ยอมรับที่จะเลิกสารระเหยอย่างจริงจังมีการเตรียมความพร้อมของครอบ ครัวผู้ป่วยให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และเป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วย ซึ่งในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่รวบรวมข้อมูลด้านร่างกายโดยการตรวจร่างกาย ข้อมูลจิตสังคมโดยการสัมภาษณ์ เพื่อประกอบการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
ขั้นตอนที่ 2 ระยะการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยในเน้นการบำบัดรักษาอาการทางกายที่เกิดจากการใช้สารระเหย ในระหว่างนี้จะฟื้นฟูสภาพจิตใจไปพร้อมๆกัน ร่วมกับการให้คำปรึกษาซึ่งประกอบด้วย การประเมินสภาพผู้ป่วยและการป้อนกลับให้เกิดแรงจูงใจและการแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยมีเจตคติที่ดีและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองพร้อมทั้งให้ญาติได้มีส่วนร่วมในการบำบัดเสริมกำลังใจเพื่อให้ผู้ป่วยมีความตั้งใจในการรักษาฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น
ขั้นตอนที่ 3 กิจกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยใน เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจเพื่อแก้ไขความผิดปกติของจิตใจ พฤติกรรม สิ่งแวดล้อมรวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่สามารถเลิกใช้สารระเหยได้ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคมและใช้ชีวิตอย่างปกติ การดำเนินการจึงมุ่งเน้นการปรับแก้พฤติกรรมโดยใช้รูปแบบของกลุ่มบำบัด(Group Therapy) พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy) พฤติกรรมบำบัดแบบการรู้การคิด ( Cognitive Behavior Therapy ) จิตบำบัด (Psychotherapy)
ครอบครัวบำบัด ( Family Therapy ) ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดทักษะ (Skill) การหลีกเลี่ยงและการเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง การเรียนรู้ช่วยให้เกิดทักษะในการสร้าง
สัมพันธภาพ ( Interpersonal Relationship ) การยืนยัน ( Assertive ) การปฏิเสธและสามารถเลิกใช้สารระเหยได้ระยะเวลา 1 ปีจากการติดตามผล โครงสร้างหลักสูตร
องค์ประกอบของการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพเข้มข้นทางสายใหม่ (FAST MODEL)
F = Family
A = Alternative Treatment Activity
S = Self Help
T = Therapeutic Community
F = Family การนำครอบครัวมีส่วนร่วม
ครอบครัวมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นการบำบัดรักษา และรับผิดชอบดูแลควบคู่ไปกับการอยู่ในครอบครัว สังคม ชุมชนตามสภาพที่เป็นอยู่จริง แบ่งออกเป็น
1. การให้ความรู้ครอบครัว (Family Education) จำนวน 8 ครั้งประกอบด้วยหัวข้อกิจกรรมสำคัญดังนี้
- ธรรมชาติของวัยรุ่น
- วิธีการอยู่ร่วมกับวัยรุ่น
- การทำงานร่วมกันระหว่างครอบครัว
- การมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมกลุ่มบำบัด
- การทำหน้าที่ของครอบครัว
- ความรู้เรื่องยาเสพติด , สมองติดยา
- ความรู้เรื่องเส้นทางสู่การเลิกยา
- ความรู้เรื่องปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเสพยาเสพติดซ้ำ
2. การให้คำปรึกษาครอบครัว ( Family Counseling ) ประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ คือ
- การเตรียมครอบครัว ( การดูแลขณะอยู่โรงพยาบาล,เมื่อกลับเยี่ยมบ้าน,เมื่อกลับไปอยู่บ้าน
- การเผชิญปัญหาและการแก้ไขปัญหาในครอบครัว
3. ครอบครัวบำบัด ( Family Therapy ) ประกอบด้วยกิจกรรม คือ
- ครอบครัวสัมพันธ์
- ครอบครัวบำบัด
A = Alternative Treatment Activity
ใช้กิจกรรมทางเลือกในการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสมกับผู้ป่วยตามสภาพความเป็นจริงของผู้ป่วยประกอบด้วยกิจกรรม คือ
1. ชมรมที่ฉันสนใจ
- ชมรมศิลปหัตกรรม
- ชมรมอาหาร
- ชมรมกีฬา
2. กิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต
- กลุ่มการศึกษา
- การฝึกอาชีพ
- การบำเพ็ญประโยชน์
S = Self Help
การใช้กระบวนการให้ผู้ป่วยมีการเรียนรู้และบำบัดรักษาทางกาย จิต สังคม สามารถมีพลังจิตอย่างเข้มแข็ง โดยปรับสภาพทั้งพฤติกรรม เจตคติ ความรู้สึกและการสร้างสัมพันธภาพจนสามารถอยู่ได้อย่างปกติสุขและปลอดจากยาเสพติดประกอบด้วยกิจกรรมดังนี้
1. การบันทึกและรายงาน
2. การสำรวจตนเอง
3. การตั้งเป้าหมายในชีวิต
4. ทักษะการปฏิเสธ
5. ทักษะการควบคุมตนเอง
6. ทักษะการสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์
7. ทักษะในการแก้ปัญหา
8. ทักษะการสื่อสาร
9. การสร้างวินัยในตนเอง
10. Narcotic Anonymous (NA.) Alcoholic Anonymous (AA)
T = Therapeutic Community
มีแนวโน้มในการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าทางสังคมโดยใช้กระบวนการชุมชนบำบัดที่สำคัญ ได้แก่ Help to Self help, Peer Pressure
เครื่องมือของบ้าน (Tools of the house)ประกอบด้วยกระบวนการต่างๆ คือ
1. Help to self help ( ช่วยเพื่อช่วยตนเอง )
2. Peer pressure ( การช่วยเหลือโดยใช้อิทธิพลกลุ่ม )
3. Re-Shape behavior กระบวนการช่วยเหลือ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
- Talking to พูดคุย
- Pull up การบอกข้อบกพร่องต่อหน้า
- Hair cut การให้คำแนะนำ
- Prospective chair การนั่งเก้าอี้ใช้ความคิด
- House Meeting ประชุมทั้งบ้าน
- การเรียนรู้ประสบการณ์
- การลำดับปัญหา
- การทำงานใช้ความคิด
4. กลุ่มบำบัด (Group therapy ) เช่น กลุ่มประชุมเช้า สัมมนา ประเมินผล นำนทนาการและประชุมเจ้าหน้าที่ สัมมนา ประเมินผล
5. Counseling : Individual Group, Marathon group , Corp out
6. การนำบุคลากรในชุมชนมามีส่วนร่วมในการบำบัดรักษาเพื่อสร้างเครือข่ายในการรักษาและติดตามประเมินผล
ขั้นตอนที่ 4 การติดตามหลังการรักษาเป็นการติดตามหลังจากฟื้นฟูสภาพจิตใจซึ่งหมายถึงการติดตามให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำ เสริมสร้างกำลังใจ ติดตามผลการรักษาและที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้กลับไปใช้สารระเหยซ้ำโดยการนัดผู้ป่วยมาพบที่โรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้ได้พบผู้ป่วยโดยตรง รวมทั้งครอบครัวหรือผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถซักถามผลการรักษาได้พร้อมกับตรวจร่างกายให้คำแนะนำช่วยแก้ปัญหาได้โดยตรงเพื่อการติดตามข้อมูลจากผู้ป่วยและครอบครัวทางจดหมายหรือโทรศัพท์จนครบ 1 ปี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติไม่กลับไปเสพซ้ำ
บทบาทหน้าที่พยาบาล ( Role of Nurse )
1. เป็นผู้แนะนำการจัดสรรสิ่งแวดล้อม หน้าที่แนะนำญาติจัดสภาพบ้านให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงความสะดวกสบายและสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับบุคคล มีเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วยยอมรับพฤติกรรมของผู้ป่วย มีท่าทีการแสดงออกที่นุ่มนวลจริงใจผู้ป่วยจะให้ความไว้วางใจมีความเชื่อมั่นและรู้สึกอบอุ่น
2. เปรียบเสมือนตัวแทนแม่ หน้าที่คอยดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ( Caring ) ส่งเสริมพัฒนาในทุกๆ ด้านของผู้ป่วย ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม เช่น ถ้าผู้ป่วยมีพฤติกรรมเหมือนเด็กไม่สนใจตัวเองไม่มีระเบียบวินัยในตนเองหรือผู้ป่วยควบคุมตัวเองไม่ได้ ทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น พยาบาลต้องดูแลเอาใจใส่จำกัดขอบเขตและป้องกันอันตราย ประคับประคองจิตใจทุกๆ ทางที่สนับสนุนให้ผู้ป่วยพึ่งตนเองให้มากที่สุด ส่งเสริมการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม โดยการให้ความรัก ความยอมรับในพฤติกรรมที่ผู้ป่วยแสดงออกในขณะเดียวกัน ก็คอยปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยให้เป็นที่ยอมรับของสังคม คือ ทำให้ตนเองมีความสุขแต่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น
3. การพยาบาลเปรียบเสมือนครู พยาบาลทำหน้าที่ปรึกษาเสมือนครูเมื่อผู้ป่วยขาดความรู้ความเข้าใจ ในการปรับตัวขณะอยู่ในสังคมที่ไม่เหมาะสม พยาบาลจะต้องให้ความรู้ แนะนำให้ผู้ป่วยได้มีการเรียนรู้ที่ถูกต้องอย่างเป็นสุข การรับประทานอาหาร การควบคุมอารมณ์ การอยู่ร่วมกับผู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา เช่น การส่งเสริมสุขภาพของตนเอง เป็นต้น
4. เป็นตัวแทนสังคม พยาบาลมีหน้าที่ช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ มีการทำงานร่วมกันได้ผลสำเร็จ จัดกิจกรรมต่างๆ ที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยแสดงออก ซึ่งความสนุกสนานเพลิดเพลิน กลุ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อฝึกทักษะการเข้าสังคมรวมทั้งการปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม
5. เป็นครูให้คำปรึกษาแนะแนว มีหน้าที่รับผู้ป่วย ให้คำแนะนำช่วยเหลือติดตามความเหมาะสม การที่ผู้ป่วยมีโอกาสพูดโดยมีบุคคลอื่นรับฟังทำให้เขาได้ระบายความรู้สึกคลายความวิตกกังวล คลายเครียดเขาจะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และรู้สึกว่าพยาบาลเอาใจใส่ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นและอาจร่วมให้ข้อคิดเห็นเพื่อให้ผู้ป่วยนำไปเป็นข้อมูลในการที่จะนำไปช่วยในการตัดสินใจด้วยตัวเองต่อไป
6. เป็นสื่อกลางระหว่างญาติและผู้ป่วย เพื่อประสานสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันกรณีมีความขัดแย้งในครอบครัวพยาบาลอาจต้องมีหน้าที่ทำครอบครัวบำบัด เพื่อลดหรือขจัดความขัดแย้งนั้น
กระบวนการพยาบาล ( Nursing Process )
กระบวนการพยาบาลเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พยาบาลประยุกต์ความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพอย่างมีระบบต่อเนื่อง เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยสูงสุด
กระบวนการพยาบาล ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. การประเมินสภาพผู้ป่วย (Assessment )
2. การวินิจฉัยทางการพยาบาล ( Nursing Diagnosis )
3. การวางแผนการพยาบาล ( Nursing Care Plan )
4. การปฏิบัติการพยาบาล ( Nursing intervention )
5. การประเมินผล ( Evaluation )
1. การประเมินสภาพผู้ป่วย (Assessment ) ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ดังนี้
1.1 การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นตอนของกระบวนการ การพยาบาลและจะปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในความดูแลของพยาบาลเพื่อประโยชน์ในการวางแผนการพยาบาลให้สอด คล้องกับความต้องการของผู้ป่วย ได้กำหนดแนวทางการรวบรวมข้อมูลโดยดัดแปลงจากกรอบแนวคิดแบบแผนสุขภาพ ของกอร์ดอน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.1.1 ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ ชื่ออายุ วันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล วันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล วันที่เก็บ รวบรวมข้อมูล สภาพสมรส อาชีพ ระดับการศึกษา การวินิจฉัยโรคเมื่อแรกเริ่มเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
1.1.2 การรับรู้และการดูแล ได้แก่ การรับรู้ของผู้ป่วย ต่อภาวะความเจ็บป่วยสาเหตุการเจ็บป่วย สาเหตุของการเข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ ความคาดหวังต่อความช่วยเหลือของแพทย์และพยาบาล ผลกระทบที่ผู้ป่วยคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจาการออกจากโรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยคิดว่าการเจ็บป่วยครั้งนี้เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในชีวิต หรือมีผลต่อครอบครัวหรือไม่
1.1.3 อาการและการเผาผลาญสารอาหารได้แก่ การประเมินความเปลี่ยนแปลงในด้านการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักที่ทีมากหรือน้อยลง พร้อมทั้งระบุจำนวนและระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลง
1.1.4 การขับถ่าย ได้แก่ การประเมินแบบแผนการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะตามปกติและการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ทั้งนี้เพราะความเครียดมีผลต่อการขับถ่าย
1.1.5 กิจกรรมและการออกกำลังกาย ได้แก่ การใช้พลังงานตามปกติ การเปลี่ยนแปลงไปจากปกติสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน กิจกรรมนันทนาการกิจวัตรประจำวันขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลและการคาดหวังที่เกี่ยวกับความสามารถของตนเองหลังจากออกจากโรงพยาบาล
1.1.6 การนอนหลับ ได้แก่ แบบแผนการนอนตามปกติ และแบบแผนการนอนที่เปลี่ยนไปจากปกติ เช่น หลับยาก ตื่นกลางดึก ตื่นเช้ามืด การหลับมากหรือน้อยกว่าปกติ
1.1.7 การรู้และการรับรู้ ได้แก่ อาการอยากยาเสพติด ความรุนแรง ความถี่ และสิ่งที่ช่วยเหลือ
เพื่อลดอาการอยากยา ระดับการรู้จักตัวเอง การรับรู้กาลเวลา สถานที่และบุคคล การพูด การติดต่อสื่อสาร อารมณ์ กระบวนความคิด การรับรู้รูปแบบความคิด การตัดสินใจ ความจำในอดีต ความจำในปัจจุบัน
1.1.8 การรับรู้ตนเองและอัตมโนทัศน์ ได้แก่ ความรู้สึกวิตกกังวลของผู้ป่วยและสาเหตุที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลของผู้ป่วยขณะอยู่รับการรักษาในโรงพยาบาล การเชื่ออำนาจภายในตน ความภาคภูมิใจของตนเองภาพลักษณ์ ปัญหาของผู้ป่วยที่มีผลกระทบต่อครอบครัวและคาดหวังเกี่ยวกับผลกระทบของความเจ็บ ป่วยต่อการวางแผนชีวิต
1.1.9 บทบาทและสัมพันธภาพ ได้แก่ การประกอบอาชีพ ผลกระทบต่อความเจ็บป่วยต่อการประกอบอาชีพ บุคคลที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ด้วย คือใครให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างไรบ้าง บุคคลที่มีความหมายต่อผู้ป่วยคือใคร ความรู้สึกว่าตนเองแยกจากสังคม ประวัติการแยกตัวออกจากสังคมการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวกับผู้ป่วยปัญหาและการแก้ไขปัญหาภายในครอบครัวบทบาทของผู้ป่วยในครอบครัว บทบาทของบุคคลสำคัญของครอบครัวขณะที่ผู้ป่วยพูดถึงครอบครัว มีความรู้สึกโกรธบุคคลใดบ้าง แบบแผนการติดต่อสื่อสารภายในครอบครัว เช่น พึ่งพา บังคับควบคุม การแสดงออกต่อกัน ความระแวงสงสัยมีลับลมคมในไม่สนใจใคร ลักษณะการตอบคำถามของผู้ป่วยเป็นไปอย่างเปิดเผย หรือปิดบังและการสบตาขณะพูดคุย
1.1.10 เพศและการเจริญพันธุ์ ได้แก่ เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเพศ ระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเพศ ที่เกิดจากการเจ็บป่วยเมื่อประเมินสภาพผู้ป่วยแล้วนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ต่อไป โดยเป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมมาจัดให้เป็นระบบและวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำมากำหนดข้อวินิจฉัยการพยาบาลซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูล โดยทั่วไปจะกระทำไปพร้อม ๆกับ


การเก็บข้อมูลแล้วขั้นตอนดังกล่าว ได้แก่
1. พิจารณาน้ำหนักความสำคัญของข้อมูลต่างๆ โดยใช้ความรู้ทางคลินิกของพยาบาลเป็นแนวทาง เช่น ข้อมูลที่มีความสำคัญจะต้องใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลต่อไป ทางข้อมูลมีความสำคัญรองลงไป ทั้งนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือตามความเร่งด่วนของปัญหา
2. จัดหมวดหมู่ของข้อมูลหรือกลุ่มข้อมูล การพิจารณาข้อมูลจะช่วยให้ทราบว่าข้อมูลใดยังไม่เพียงพอที่ จะแปลความหมาย หรือสรุปประเด็นปัญหาได้ ต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติม
3. ทำความกระจ่างข้อมูลที่อาจบ่งชี้ถึงปัญหาของผู้รับบริการ ซึ่งอาจต้องให้จิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญซึ่งมิใช่พยาบาล เพื่อส่งต่อหรือปรึกษา เพื่อให้การดูแลรักษาต่อไป
4. การวิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูล พยาบาลต้องคิดอย่างเป็นระบบ โดยต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในหลายๆ ด้าน เช่น พฤติกรรมจิตเวช การดูแลสุขภาพทั่วไป ข้อมูลที่แปลความหมายแล้วแสดงว่าข้อมูลนั้นเที่ยงตรงนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาได้
2. การวินิจฉัยทางการพยาบาล ( Nursing Diagnosis )
การวินิจฉัยการพยาบาลเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการประเมินสภาพผู้รับบริการ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการพยาบาล เนื่องจากการวินิจฉัยทางการพยาบาลที่ชัดเจน และเชื่อถือได้สามารถชี้ให้เห็นทิศทางของการปฏิบัติการพยาบาล เป็นภาวะเสี่ยงและอาจเป็นปัญหา หรือเป็นความเข้มแข็งหรือจุดเด่นของผู้บริการที่จะดำรงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพที่ดี
การประเมินสภาพทางการพยาบาลยาเสพติด เป็นการตรวจสอบข้อมูลสุขภาพที่ได้จากการบอกเล่า สังเกตและการตรวจสอบ เครื่องมือที่ใช้คือการสังเกต การสัมภาษณ์แหล่งข้อมูลที่สำคัญได้จากผู้รับบริการ ญาติพี่น้อง เอกสารแฟ้มประวัติ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การประเมินสภาพ ดังกล่าว พยาบาลต้องใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทางการพยาบาลผู้ป่วยติดสุราเป็นไปอย่างมาก โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาปัญหา และความต้องการของผู้รับบริการ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยทางการพยาบาล เป็นการอธิบายถึงปัญหาความต้องการที่กำลังเกิดขึ้น และภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเป็นสาเหตุ เป็นผลโดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะสุขภาพเป็นพื้นฐานในการคิดพิจารณาทางการพยาบาลที่พยาบาลสามารถกระทำบทบาทของพยาบาลได้
3. การวางแผนการพยาบาล ( Nursing Care Plan )
การวางแผนการพยาบาล เป็นการกำหนดโครงร่างของการปฏิบัติพยาบาลที่เกี่ยวกับการประเมินปัญหา และความต้องการด้านสุขภาพ การลำดับความสำคัญของปัญหา และความต้องการด้านสุขภาพมีเป้าหมายในการดูแลช่วยเหลือเลือกสรรวิธีการ หรือกิจกรรมที่จะปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้มีเกณฑ์การตรวจสอบผลของการปฏิบัติ ทุกขั้นตอนจะเกี่ยวข้องกันอย่างมีเหตุผลเป็นขั้นตอนที่มีความชัดเจนกะทัดรัดเป็นระบบ เป็นแนวทางในการปฏิบัติ การพยาบาลที่มีประสิทธิภาพต่อไป การวางแผนการพยาบาลเป็นกระบวนการตัดสินใจโดยใช้ความรู้ความสามารถทางการพยาบาลเพื่อนำความกระจ่างกับแนวทางในปฏิบัติ ซึ่งเป้าหมายในการวางแผนการพยาบาล คือผู้รับบริการได้รับการพยาบาลช่วยเหลืออย่างมีคุณภาพ และทำให้ผู้รับบริการมีภาวะที่ดีที่สุดตามศักยภาพที่มีอยู่ การวางแผนการพยาบาลนั้นพยาบาลจะต้องพิจารณาปัญหาและความต้องการศักยภาพและแหล่งช่วยเหลือต่างๆ ที่ผู้รับบริการอยู่ คือ ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางการวางแผนการพยาบาลซึ่งหลักในการวางแผนการพยาบาลพยาบาลจะต้องตระหนักถึงหลักในขณะกำหนดแผนการพยาบาลสำหรับผู้รับบริการ
หลักในการวางแผนการพยาบาลดังนี้
- มีความสอดคล้องกับแผนการรักษาอื่นๆ ของผู้รับบริการทุกๆ ด้าน
- ต้องคำนึงถึงขอบข่ายของการปฏิบัติการพยาบาลตามกฎหมาย
- ขึ้นอยู่กับความต้องการและปัญหาของผู้รับบริการในขณะนั้น
- สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าของการพยาบาลได้อย่างชัดเจน
ขั้นตอนการวางแผนการพยาบาล ได้แก่
1. การประเมินสภาพ เป็นขั้นตอนแรกของการวางแผนการให้คำปรึกษา ได้แก่ การเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล กำหนดปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการโดยนำความรู้ด้านการพยาบาล เป็นแนวทางในการพิจารณา
2. เขียนรายงานที่เป็นปัญหาต่างๆ ทั้งที่เป็นปัญหาการพยาบาลและของผู้รับบริการโดยพิจารณาถึงปัญหาที่ต้องให้ความช่วยเหลือโดยทันที ต้องรีบวางแผนและให้การช่วยเหลือโดยทันที ต้องรีบวางแผนและให้การช่วยเหลือ โดยเร่งด่วนต้องรอให้เก็บข้อมูลอื่นให้ครบถ้วน
3. ทำความกระจ่างกับปัญหา เพื่อยืนยันความถูกต้องน่าเชื่อโดยพิจารณาว่า ปัญหานั้นข้อมูลเพียงพอหรือไม่ที่จะสรุปประเด็นของปัญหาหรือเป็นข้อสงสัยที่ต้องการเวลา และข้อมูลสนับสนุนตกไป หรือปัญหาที่เป็นการเสี่ยงหากไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็นปัญหาในอนาคตประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญ คือ
3.1 กำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล ร่วมกับผู้รับบริการหรือครอบครัว
3.2 จัดลำดับข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลที่กำหนดให้ ตามความเร่งด่วนของการช่วยเหลือ
3.3 กำหนดวัตถุประสงค์ที่นำไปสู่เป้าหมายของการพยาบาลที่กำหนดวัตถุประสงค์ ระยะสั้นที่
สามารถวัดและตรวจสอบได้ ส่วนวัตถุประสงค์ระยะยาวจะนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาผู้รับบริการอย่างเต็มศักยภาพของผู้รับบริการแต่ละราย
3.4 การกำหนดกิจกรรมของพยาบาลหรือการช่วยเหลือ หมายถึง อธิบายถึงวิธีการพยาบาลที่จะช่วย
ให้ผู้บริการสามารถดำรงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตสังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดกิจกรรมทางการพยาบาลครอบคลุมทั้ง 4 บทบาทของพยาบาล การดูแลรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ การส่งเสริมและการป้องกัน
3.5 ทำความกระจ่างกับการประเมินผลสำเร็จ ซึ่งผสมการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดหลังการปฏิบัติทางการพยาบาลแล้วจะเป็นข้อบ่งว่า ผู้รับบริการพร้อมกลับสู่สังคมได้หรือไม่ทำให้พยาบาลมีเป้าหมายในการให้การพยาบาลที่สอดคล้องกับปัญหา และความต้องการของผู้รับบริการรายบุคคลลักษณะของแผนการพยาบาลประกอบด้วย การประเมินปัญหา ความต้องการเพื่อกำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล การกำหนดเป้าหมายทางการพยาบาล การกำหนดกิจกรรมทางการพยาบาล การกำหนดหลักเกณฑ์การประเมิน การวางแผนการพยาบาลนั้น ต้องสอดคล้องกับแผนการรักษาของผู้รับบริการ หลักการวางแผนการพยาบาล คือ การเรียงลำดับความเร่งด่วนของปัญหาเพื่อให้การช่วยเหลือเน้นการกำหนดเป้าหมายการพยาบาลที่เป็นไปได้โดยยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง
4. การปฏิบัติการพยาบาล ( Nursing Intervention )
การปฏิบัติการพยาบาล หมายถึง การกระทำต่างๆ ที่จะต้องใช้การตัดสินใจและทักษะเฉพาะโดย
ประยุกต์ความรู้ และหลักการทางการพยาบาลที่เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมทั้งด้านร่างกายและจิตสังคมพื้นฐานโดยมีลักษณะปฏิบัติดังนี้
1. รับผิดชอบดูแลผู้รับบริการที่มีปัญหาสุขภาพให้ความช่วยเหลือ ประเมินสังเกตอาการให้
การพยาบาลและบันทึกการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องและชัดเจน
2. ดำรงรักษาสุขภาพที่ดีส่งเสริมภาวะสุขภาพดีและป้องกันการเจ็บป่วยรวมทั้งป้องกันภาวะ
แทรกซ้อนเมื่อเจ็บป่วยให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเมื่อผู้รับบริการอยู่ในภาวะฉุกเฉินหรือต้องการคำปรึกษา
3. แนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพให้คำปรึกษาและให้กำลังใจในการดูแลสุขภาพของ
ผู้รับบริการ
4. ให้ยาและดูแลตามการรักษาของแพทย์
5. ปฏิบัติการพยาบาลด้วยความเข้าใจถึงเหตุผลที่เกิดขึ้นกับผู้รับบริการ
การปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยเป็นการปฏิบัติการพยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางที่ต้องตัดสินใจที่ฉับไวถึงปัญหาให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมมีทักษะเฉพาะโดยการนำเอาความรู้ด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความมั่นใจ มีความรู้สึกปลอดภัย รวมทั้งสามารถเผชิญปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาร่างกาย จิตใจ ครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม
5.การประเมินผล ( Evaluation )
เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการการพยาบาล ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการปฏิบัติการให้คำปรึกษา การพิจารณาการพยาบาล ตามเกณฑ์การประเมินในกรณีที่ไม่เป็นตามกำหนด จากการกลับบ้าน จะต้องค้นว่าเกิดจากสาเหตุใด อาจเก็บรวบรวมข้อมูลไม่ครบถ้วน วิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาด การกำหนดวัตถุประสงค์และเกณฑ์การประเมินผล ไม่เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วย การวิเคราะห์วางแผน โดยให้ผู้ป่วยและญาติเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนก่อนกลับบ้านและประเมินผลอีกครั้งหนึ่ง
การประเมินผลขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการการพยาบาลโดยได้ใช้เกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้อาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและเพิ่มข้อมูลเพื่อการให้คำปรึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การเปรียบเทียบอาการของโรคกับทฤษฎี ดังตารางที่ 1 คือ
อาการตามหลักทฤษฎี
อาการของผู้ป่วย
ปัจจัยที่ทำให้ใช้สาระเหยหลายประการที่สำคัญ ดังนี้
1. จากการถูกชักชวน เยาวชนส่วนใหญ่มีสัญชาตญาณต้องการอยู่ร่วมกัน ต้องการได้รับการยกย่อง และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของหมู่คณะ ฉะนั้นถ้าเพื่อนฝูงชักชวนให้ลองย่อมขัดไม่ได้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นเข้ากับเพื่อนไม่ได้ จึงทำให้เยาวชนต้องยอมใช้ยาเสพติดตามการชักชวนของเพื่อน
2. การนำทฤษฎีการเรียนรู้ได้กล่าวถึงความรู้สึกผูกพันเกิดขึ้นเนื่องจากเด็กเรียนรู้ว่ารุ่นพี่เป็นผู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการทางด้านร่างกายและจิตใจให้แก่ตนได้ด้วยความอยากลอง ความอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง อยากรู้รสชาติ อยากสัมผัส เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ โดยคิดว่าคงไม่ติดง่ายๆ แต่เมื่อลองเสพเข้าไปแล้วมักจะติด
3.การนำทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาใช้การพัฒนาการความ รู้สึกผูกพันกับมารดา ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่เขาใกล้ชิด ต่อเมื่อบุคคลนั้นรู้สึกผูกพันกับมารดาได้แล้วอย่างมั่นคงในวัยเด็ก เขาจึงสามารถมีสัมพันธภาพที่มั่นคงกับบุคคลอื่นๆ และผูกพันกับบุคคลอื่นๆ ในวัยต่อมาได้ จากการศึกษาทฤษฎีเผ่าพันธุ์ศึกษาถ้าเมื่ออยู่ในวัยเด็กบุคคลนั้นไม่มีความรู้สึกผูกพันกับมารดาหรือผู้เลี้ยงดูเด็กเขาจะมีปัญหาสัมพันธภาพกับผู้อื่นในวัยต่อมา จากความกดดันในครอบครัวมีส่วนผลักดันให้สมาชิกในครอบ ครัวหันไปใช้ยาเสพติดได้ ซึ่งความกดดันในครอบครัวมีแตกต่างกันไป เช่น พ่อแม่ทะเลาะกันทุกวัน ลูกเกิดความรำคาญใจที่เห็นสภาพเช่นนั้น ทำให้เบื่อบ้าน จึงทำให้ใช้เวลาว่างที่มีไปคบเพื่อนนอกบ้านจนกว่าจะถึงเวลานอนจึงกลับบ้านและในที่สุดก็หันไปสู่ยาเสพติด
ผู้ป่วยดมกาวเมื่ออายุ 9 ขวบเพราะรุ่นพี่ชวน 2 ปีที่ผ่านมา อาจารย์ที่โรงเรียนจับได้ส่งเข้าบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพ ณ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดขอนแก่น 14 วัน หยุดได้ 2 เดือน ต่อมากลับดมกาวซ้ำเพราะสิ่งแวดล้อมและเพื่อนชวน ดม 1-2 ครั้ง/สัปดาห์
ผู้ป่วยติดกาวจากการถูกชักชวนของเพื่อนและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่มิฉะนั้นเพื่อนจะไม่คบผู้ป่วยมีความอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง อยากรู้รสชาติ อยากสัมผัส คิดว่าคงไม่ติดง่ายๆ แต่เมื่อลองเสพเข้าไปแล้วรู้สึกมีความสุขในจินตนาการจึงติดผู้ป่วยอาศัยอยู่กับมารดา 2 คน บิดาไปทำงานกรุงเทพกลับมาเยี่ยมบ้านเวลาเทศกาล ส่วนมารดามีอาชีพรับจ้างทั่วไปรายได้ไม่แน่นอนมีพฤติกรรมจะดื่มสุราทุกวัน เมื่อเมาดุด่าผู้ป่วยไม่เคยสนใจผู้ป่วยว่าจะมีความเป็นอยู่อย่างไร ผู้ป่วยเกิดความเครียดจึงไปคบเพื่อนและรุ่นพี่นอกบ้านเพราะว่าคุยกันรู้เรื่องและอยู่จนถึงเวลานอนจึงกลับบ้านบางครั้งดมกาวปริมาณมากอาศัยนอนในป่า
บทที่ 4
กรณีศึกษา
การดูแลผู้ป่วยติดสารระเหยตามกระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นทางสายใหม่

1. ข้อมูลส่วนตัว
เพศ ชาย
อายุ 13 ปี
เชื้อชาติ/สัญชาติ ไทย
ศาสนา พุทธ
สถานภาพ โสด
ระดับการศึกษา ประถมศึกษาปีที่ 4
อาชีพ นักเรียน
ที่อยู่ปัจจุบัน 95 ม.9 ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
วันที่รับไว้รักษา 23 มีนาคม 2548
2. อาการสำคัญ
ตำรวจจับผู้ป่วยดมกาว 1 วัน ก่อนมาโรงพยาบาล
3. ประวัติเจ็บป่วยในอดีต
ปฏิเสธการเจ็บป่วยใด ๆ ในอดีต
4. ประวัติการใช้และสารเสพติด
ผู้ป่วยดมกาว มา 2 ปีโรงเรียนจับได้ส่งเข้าบำบัดรักษา ณ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดขอนแก่น หยุดได้
2 เดือน กลับดมกาวซ้ำเพราะสิ่งแวดล้อมและเพื่อนชวน ดม 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ 1 ปี ต่อมาตำรวจจับได้จึงส่งมาบำบัดรักษา 120 วัน
5. ประวัติในครอบครัว
ผู้ป่วยเป็นบุตรคนเดียวของพ่อและแม่ บิดาไปทำงานที่กรุงเทพ
6. โภชนาการและการเผาผลาญอาหาร
ปริมาณและความอยากอาหาร ปัจจุบันทานอาหารได้เป็นปกติ
7. การขับถ่าย
ปัสสาวะ กลางวัน 5-6 ครั้ง สีปกติ ไม่มีอาการแสบขัด
อุจาจาระ เข้าห้องน้ำได้ตามปกติไม่มีอาการท้องผูก วันละ 1-2 ครั้ง สีปกติ



8. กิจกรรมและการออกกำลังกาย
ความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้เอง อาบน้ำ และทานอาหารได้
9. การนอนหลับและการพักผ่อน
การนอนหลับ จะนอนค่อนข้างดึก ประมาณ 24.00-00.00 น. ตื่น ประมาณ 04.00-05.00 น. นอนหลับยาก ช่วงหัวค่ำจะไม่หลับเลย
การพักผ่อน โดยส่วนใหญ่จะดูหนัง ฟังเพลง สังสรรค์กับเพื่อและดื่มเบียร์ไปด้วย จะทำให้หายเครียด และลืมปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในระยะเวลาหนึ่ง
10. การตรวจสภาพจิต
ชายไทยวัยรุ่นตอนต้น ผิวดำแดง ถามตอบรู้เรื่อง การแต่งตัวสะอาดด้วยเสื้อผ้าที่เรียบร้อย ตัดเล็บมือ หวีผมเรียบร้อย ไม่มีกลิ่นตัว กลิ่นปาก
การพูด ถามตอบรู้เรื่อง สุขภาพและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และพูดด้วยท่าทางที่เป็นมิตร
ความคิด เนื้อหารูปแบบการคิด ปกติ
ความจำ สามารถจดจำเรื่องราวได้ดี รับรู้เวลา สถานที่ บุคคลได้หมด
อารมณ์ ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงและยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางสูญเสีย การควบคุมตัวเองมีแนว
โน้มรู้สึกตนเองว่ามีปมด้อย ท้อแท้ ตึงเครียด อารมณ์โกรธแค้น ขุ่นเคือง ถดถอย มีแนวโน้มหนีสังคม แยกตัว
ความตั้งใจและสมาธิ ผู้ป่วยมีความตั้งใจสูง
การรับรู้ต่อสิ่งเร้า ผู้ป่วยปฏิเสธการพบเห็นสิ่งแปลกหรือเหตุการณ์แปลกๆ ไม่มีอาการ หูแว่ว
การตัดสินใจ ผู้ป่วยมีความคิดลังเลเป็นบางครั้งในการตัดสินใจ เช่น การลังเลในการบำบัดรักษา
แต่ถ้าได้รับข้อมูลและผู้ป่วยเข้าใจผู้ป่วยจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
11. การรับรู้ตนเองและอัตมโนทัศน์
รู้สึกนึกคิดต่อรูปร่างหน้าตา ผู้ป่วยบอกรู้สึกพอใจในสิ่งที่ตนเองมีและเป็นอยู่ ปัจจุบันความรู้นึกคิดต่อ
ความสามารถของตนเองเมื่อตนเองหายจากการเจ็บป่วย จะสามารถไปเรียนได้ ความรู้สึกมีคุณค่า รู้สึกว่าผู้ป่วยมีคุณค่าในตนเองน้อย
12. บทบาทและสัมพันธภาพ
สมาชิกในครอบครัวมี 3 คน ผู้ป่วยเป็นสมาชิกในครอบครัว มีมารดาคอยดูแลและบิดาทำงานที่กรุงเทพพูดคุยติดต่อกันทางโทรศัพท์
13. เพศและการเจริญพันธุ์
ลักษณะการแสดงออก ปัจจุบันยังมีความต้องการทางเพศอยู่ดังเช่นผู้ชายอื่นทั่วไป
14. การปรับตัวและความทนต่อความเครียด
โดยปกติเมื่อเกิดความเครียดขึ้นจะไม่เล่าให้ใครฟัง ส่วนใหญ่จะหาทางออกโดยการชวนเพื่อนไปดมกาวในป่า
15. คุณค่าและความเชื่อ
รู้จักปรับตัวที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมก็จะทำให้ไม่เจ็บป่วย ผู้ป่วยไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติแต่ไม่เคยลบหลู่
16. ผลการตรวจร่างกาย เบื้องต้น
ศรีษะ ลักษณะศีรษะสมส่วนไม่มีก้อนนูน
เส้นผม ผมตรงดำ ไม่มีรังแค ไม่มีผมร่วงสะอาดหวีเรียบร้อย
ตา มองเห็นชัดเจนทั้ง 2 ตัว ไม่มีภาวะตาบวม
หู รูปทรงปกติได้ยินเสียงชัดเจน มี ไม่มี Discharge
จมูก ได้สัดส่วนมี Septum สันไม่มีน้ำมูก
ริมฝีปาก ได้รูป มีสีน้ำตาลคล้ำ
เยื่อบุปาก เป็นสีชมพู ไม่มีบาดแผลชุ่มชิ้นดี
ลิ้น ไม่มีฟ้าขาว การรับรู้รสเป็นปกติ
ฟัน มีลักษณะออกสีเหลืองไม่มีฟันผุ
ลำคอ ตั้งตรงไม่ภาวะ Neck Vein Engorgement คลำไม่พบก้อนต่อมไทรอยด์
ทรวงอก สมมาตรกันทั้ง 2 ข้าง มีการเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับการหายใจ
ปอด ฟังเสียงชัดเจนดี ไม่มีเสียง wheezing
หัวใจ เต้นสม่ำเสมอ HR = 89 ครั้ง/นาที
ท้อง รูปทรงปกติ กดไม่เจ็บคลำไม่พบตับหรือม้ามโต
กล้ามเนื้อ แขนขาทั้ง 2 ข้าง เคลื่อนไหวปกติ การทรงตัวเป็นปกติ
17. อาการที่พบในระหว่างการบำบัดรักษาแบบฟื้นฟูสมรรถภาพและวินิจฉัยการพยาบาล
ผู้ป่วยเป็นบุตรคนเดียวของบิดาและมารดามีฐานะยากจน บิดาไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพผู้ป่วยอาศัย
อยู่กับมารดาที่ดื่มสุราทุกวันไม่สนใจบุตร ผู้ป่วยดมกาวเมื่ออายุ 9 ขวบเพราะรุ่นพี่ชวน 2 ปี ที่ผ่านมา อาจารย์ที่โรงเรียนจับได้ส่งเข้าบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพ ณ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดขอนแก่น 14 วัน หยุดได้
2 เดือน ต่อมากลับดมกาวซ้ำเพราะสิ่งแวดล้อมและเพื่อนชวน ดม 1-2 ครั้ง/สัปดาห์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 ถูกตำรวจจับได้จึงส่งมาบำบัดรักษา ตามคำวินิจฉัยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ควบคุมตัวแบบไม่เข้มงวด เป็นเวลา 120 วัน ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดขอนแก่น ขณะอยู่รักษาทีมสหวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนดังข้อวินิจฉัยการพยาบาล 5 ข้อ ดังนี้
เดือนที่ 1 ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในกระบวนการบำบัดรักษาเนื่องจากคิดว่าตนเองไม่ได้ติดสารระเหย เมื่อให้การพยาบาลผู้ป่วยยินยอมและให้ความร่วมมือในการรักษา สังเกตจากการเข้ากิจกรรมกลุ่มเมื่อซักถามสามารถตอบได้และสามารถอยู่บำบัดรักษาครบกำหนด 4 เดือน
เดือนที่ 2 ผู้ป่วยขาดความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่เนื่องจากเป็นเด็กที่มีวุฒิภาวะไม่เพียงพอทำให้มีประสิทธิภาพในการปรับตัวน้อย ผู้ป่วยมีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นไม่ใช้กำลังแก้ปัญหาความเครียด สังเกตจากการพูดคุยยอมรับการปรับตัวที่เหมาะสมรู้วิธีการปรับตัว เมื่อเผชิญความเครียดได้อย่างเหมาะสมเมื่อซักถามสามารถตอบได้
เดือนที่ 3 การเผชิญปัญหาไม่เหมาะสมเนื่องจากขาดทักษะการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง หลังให้การพยาบาลผู้ป่วยสามารถวิเคราะห์อารมณ์ และปัญหาของตนเองได้ สามารถวางแผนการเผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสมโดยไม่แสดงอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดกับเพื่อนสมาชิกและเจ้าหน้าที่
เดือนที่ 4 ผู้ป่วยนอนไม่หลับเนื่องจากมีความวิตกกังวลเรื่องการเรียนหลังให้การพยาบาลผู้ป่วยสีหน้าสดชื่น มีความวิตกกังวลลดลง นอนหลับพักผ่อนได้ 6 - 8 ชม./วัน จากการสังเกตเมื่อเข้า กลุ่มมีการโต้ตอบขณะเข้ากลุ่มดี ไม่นั่งหลับในกลุ่มและผู้ป่วยมีโอกาสกลับไปเสพซ้ำหลังจำหน่ายเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ไม่เหมาะสม เมื่อซักถามผู้ป่วยสมารถตอบได้ ไม่กลับไปเสพซ้ำและสามารถดำเนินชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ได้อย่างปกติและมาติดตามผลอย่างต่อเนื่อง 4 ครั้งเมื่อครบ 1 ปี สรุปข้อวินิจฉัยการพยาบาลดังนี้
ข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่ 1. การเผชิญปัญหาไม่เหมาะสมเนื่องจากขาดทักษะการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
ข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่ 2 . ผู้ป่วยขาดความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่เนื่องจากเป็นเด็กที่มีวุฒิภาวะไม่เพียงพอ
ข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่ 3. ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในกระบวนการบำบัดรักษาเนื่องจากคิดว่าตนเองไม่ได้ติดสารระเหย
ข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่ 4. ผู้ป่วยนอนไม่หลับเนื่องจากผู้ป่วยนอนไม่หลับเนื่องจากมีความวิตกกังวลเรื่องการเรียน
ข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่ 5. ผู้ป่วยมีโอกาสกลับไปเสพซ้ำหลังจำหน่ายเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ไม่เหมาะสม
มีกระบวนการวางแผนการพยาบาลดังนี้
ข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่ 1. การเผชิญปัญหาไม่เหมาะสมเนื่องจากขาดทักษะการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
ข้อมูลสนับสนุน
S : หาเหตุผลเข้าข้างตนเองเมื่อกระทำผิดระเบียบแม้จะได้รับคำแนะนำจากเพื่อนสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่
O : จากการได้รับโปรแกรมการช่วยเหลือในหัวข้อพูดแทรกในกลุ่มประชุมเช้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
เดินออกจากกลุ่มทักษะการเลิกยาเสพติดโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อเพื่อนสมาชิกให้คำแนะนำผู้ป่วยแสดงอารมณ์โกรธและโต้ตอบเสียงดัง
วัตถุประสงค์
ผู้ป่วยสามารถเผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสม
เกณฑ์การประเมินผล
1. ผู้ป่วยสามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้
2. ผู้ป่วยสามารถวางแผนในการเผชิญปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
3. ผู้ป่วยสามารถเผชิญปัญหาโดยใช้ทักษะการจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้
กิจกรรมการพยาบาล
1. สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วยแสดงท่าทีที่พร้อมที่จะให้เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ
2. ให้คำปรึกษารายบุคคลโดย
2.1 กระตุ้นให้สมาชิกระบายความรู้สึกเมื่อมีปัญหาคับข้องใจ
2.2 ให้ผู้ป่วยวิเคราะห์ถึงสาเหตุอารมณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์และผลเสียที่เกิดจาก
การกระทำ
2.3 ส่งเสริมให้ผู้ป่วยวิเคราะห์วางแผนเลือกแนวทางการแก้ไขปัญหาและการจัดการกับอารมณ์
3. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มทักษะการแก้ไขปัญหาโดยใช้บทบาทสมมติ
4. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มทักษะชีวิต
5. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มสังคมบำบัด
6. ให้โปรแกรมการช่วยเหลือเมื่อผู้ป่วยใช้ทักษะการเผชิญปัญหาที่ไม่เหมาะสม
7. สังเกตและบันทึกพฤติกรรมผู้ป่วยเพื่อทราบการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้ป่วยและ
เป็นแนวทางในการวางแผนการช่วยเหลือ
การประเมินผล
หลังให้การพยาบาลผู้ป่วยสามารถวิเคราะห์อารมณ์ และปัญหาของตนเองได้สามารถวางแผนการ
เผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสมโดยไม่แสดงอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดกับเพื่อนสมาชิกและเจ้าหน้าที่
ข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่ 2 . ผู้ป่วยขาดความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่เนื่องจากเป็นเด็กที่มีวุฒิภาวะไม่เพียงพอ
ข้อมูลสนับสนุน
S : ผู้ป่วยอายุ 13 ปี ชอบหยอกล้อและเล่นไม่รู้จักเวลาทำให้ผู้ป่วย
คนอื่นว่ากล่าวตักเตือนเสมอ
: ไม่ปฏิบัติตามรุ่นพี่ที่กล่าวเตือน ไม่ทำเป็นแบบอย่างที่ดีในภาวะเด็ก
O : เมื่อเผชิญกับความเครียดหรือไม่พอใจมักแก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรงทะเลาะวิวาทกับคนอื่นรอบข้างอยู่เสมอ
วัตถุประสงค์
เพื่อให้สามารถมีการปรับตัวได้อย่างเหมาะสมตามวุฒิภาวะที่เป็นอยู่
เกณฑ์การประเมินผล
1. ไม่ใช้กำลังแก้ปัญหาความเครียด
2. ยอมรับการปรับตัวที่เหมาะสม
3. รู้วิธีการปรับตัว เมื่อเผชิญความเครียดได้อย่างเหมาะสม
กิจกรรมการพยาบาล
1. สร้างสัมพันธภาพให้ผู้ป่วยเกิดความไว้วางใจในตัวพยาบาล
2. เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความวิตกกังวลและความกลัว ตอบคำถามของผู้ป่วยทุกคำถาม
เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย
3. พูดคุยให้ผู้ป่วยเห็นว่าการใช้กำลังเพื่อแก้ไขปัญหาความเครียดเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
4. นำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาวิเคราะห์ให้ผู้ป่วยเห็นจริงอีกครั้ง พร้อมทั้งอธิบายให้ทราบถึง
ผลของการกระทำที่ไม่เหมาะสมในภาวะเด็ก
5. พยายามให้ผู้ป่วยเผชิญกับความจริงในการดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ในชีวิตจริง
6. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยดูแลตนเองอย่างอิสระ ให้การเสริมแรงทางบวกในพฤติกรรมที่พึงประสงค์
ความสามารถในการตัดสินใจและความเป็นตัวของตัวเอง
7. สอนวิธีคลายเครียด เช่น การผ่อนคลาย การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ
การประเมินผล
ผู้ป่วยมีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นไม่ใช้กำลังแก้ปัญหาความเครียด สังเกตจากการพูดคุยยอมรับการปรับตัวที่เหมาะสมรู้วิธีการปรับตัว เมื่อเผชิญความเครียดได้อย่างเหมาะสมเมื่อซักถามสามารถตอบได้
ข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่ 3. ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในกระบวนการบำบัดรักษาเนื่องจากคิดว่าตนเองไม่ได้ติดสารระเหย
ข้อมูลสนับสนุน
S : ผู้ป่วยบอกว่าตนเองไม่ติดยาและไม่ต้องการจะอยู่รักษา
: บ่นไม่สะดวกสบายที่จะบำบัดรักษา
O : ไม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้ป่วยยินยอมเข้ารับการรักษาเข้าใจถึงปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมการติดยาที่ต้องแก้ไข
เกณฑ์การประเมินผล
ผู้ป่วยยินยอมให้ความร่วมมือในการรักษาครบ 4 เดือน
กิจกรรมการพยาบาล
1. การสร้างสัมพันธภาพที่ดีด้วยการพูดคุยเรื่องทั่วไป แสดงความใส่ใจต่อผู้ป่วยและอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงวิธีการรักษาที่ถูกต้อง
2. สอนหรือให้ข้อมูลถึงความจำเป็นในการรักษาด้วยข้อมูลที่เข้าใจง่ายในประเด็นต่อไปนี้
ความคาดหวังจากการรักษา บทบาทของผู้ป่วยในฐานะของผู้รับบริการ ความรู้เกี่ยวกับโรค การรักษา การแก้ไขทัศนคติหรือค่านิยมที่มีผลต่อการรักษา
3. ให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยในการตัดสินใจรับการรักษา
4. จัดหาเอกสาร ข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้ป่วยและญาติได้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจ
5. ติดต่อกับผู้ป่วยเป็นประจำเพื่อให้กำลังใจและเสริมแรงจูงใจในการรักษา
6. กระตุ้นให้ญาติส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยในการตัดสินใจรักษา
การประเมินผล
ผู้ป่วยยินยอมและให้ความร่วมมือในการรักษา สังเกตจากการเข้ากิจกรรมกลุ่มเมื่อซักถามสามารถตอบได้และสามารถอยู่บำบัดรักษาครบกำหนด 4 เดือน
ข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่ 4 . ผู้ป่วยนอนไม่หลับเนื่องจากมีความวิตกกังวลเรื่องการเรียน
ข้อมูลสนับสนุน
S : ผู้ป่วยบอกว่า “ กลางคืนนอนไม่ค่อยหลับเพราะกังวล เรื่อง การกลับไปเรียนให้จบประถมต้น ”
รบเร้ากลับบ้านไม่อยากเข้ากลุ่มเพราะนั่งหลับแล้วโดนทำโทษ
O : นอนเวลา 23.50 - 03.00 น. สีหน้าวิตกกังวล ขอบตาคล้ำ
วัตถุประสงค์
เพื่อลดความวิตกกังวลและนอนหลับพักผ่อนได้
เกณฑ์การประเมินผล
1. ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อน 6 - 8 ชั่วโมงต่อวัน
2. ไม่นั่งหลับในกลุ่ม
3. สีหน้าไม่มีความวิตกกังวลเรื่องการเรียนต่อประถมปีที่ 4
กิจกรรมการพยาบาล
1. สร้างสัมพันธภาพเพื่อให้ผู้ป่วยมีความไว้วางใจและได้ระบายความรู้สึกออกมา
2. เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยพูดระบายปัญหาหรือสาเหตุของความวิตกกังวล
3. ช่วยให้ผู้ป่วยค้นปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจ โดยพยาบาลและผู้ป่วยร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และให้ผู้ป่วยเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมด้วยตนเอง
4. กระตุ้นให้ผู้ป่วยพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการเรียน เพื่อนำมาใช้ในการหาสาเหตุและ
เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาถูกต้อง
5. ให้ข้อมูลเรื่อง ระยะเวลาอยู่บำบัดรักษา วันนัดจำหน่ายกลับและการไปศึกษาต่อ
6. สังเกตและบันทึกพฤติกรรมของผู้ป่วย และการปฏิบัติของพยาบาลโดยละเอียด ทั้งก่อนและ
หลังการให้คำปรึกษา แนะนำแหล่งให้ความช่วยเหลือเมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้เมื่ออยู่ที่บ้าน
7. ดูแลให้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม และพูดคุยกับเพื่อน ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
8. แนะนำให้ออกกำลังกายและรับประทานอาหารอย่างเพียงพอ
9. ดูแลให้ยาคลายความวิตกกังวล Ativan 2 mg. 1 tab o hour ตามแผนการรักษาของแพทย์
การประเมินผล
ผู้ป่วยสีหน้าสดชื่น มีความวิตกกังวลลดลง นอนหลับพักผ่อนได้ 6 - 8ชม./วัน จากการสังเกตเมื่อเข้า กลุ่มมีการโต้ตอบขณะเข้ากลุ่มดี ไม่นั่งหลับในกลุ่ม
ข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่ 5 . ผู้ป่วยมีโอกาสกลับไปเสพซ้ำหลังจำหน่ายเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ไม่เหมาะสม
ข้อมูลสนับสนุน
S : ผู้ป่วยบอกว่ากลับไปบ้านก็เจอสภาพเดิมๆ มีเพื่อนติดสารระเหยอยู่ กลัวเลิกไม่ได้
O : สีหน้าวิตกกังวล
วัตถุประสงค์
เพื่อป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ
เกณฑ์การประเมินผล
ผู้ป่วยไม่กลับไปเสพซ้ำและสามารถดำเนินชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ได้
กิจกรรมการพยาบาล
1. ประเมินสภาพผู้ป่วยก่อนกลับบ้านเพื่อให้ผู้ป่วยได้รู้จักวิธีการปรับตัวได้ถูกต้อง
2. สร้างแรงกระตุ้นให้กับผู้ป่วยในการจัดการกับสัญญาณเตือนของการกลับไปเสพซ้ำเมื่อมีสิ่งกระตุ้น
3. การจัดกิจกรรมการจัดการกับอารมณ์อันตรายที่ทำให้กลับไปเสพซ้ำโดยใช้ใช้ตัวแบบและบทบาทสมมุติให้ผู้ป่วยทดสอบก่อนกลับบ้าน
4. สอนครอบครัวเรื่องสัญญาณเตือนของการกลับไปเสพซ้ำซึ่งผู้ป่วยไม่รู้สัญญาณเตือนของตนคืออะไร เช่น โกรธ หิว เจ็บป่วย หงุดหงิด เหงา โดดเดี่ยว หรืออารมณ์ที่มีความสุขหรือทุกข์ครอบครัวไม่รู้ ซึ่งผู้ป่วยและครอบครัว สามารถป้องกันการกลับไปเสพซ้ำได้โดยการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้
5. อธิบายให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการมาติดตามผลเพื่อป้องกันการกลับเสพซ้ำ
การประเมินผล
เมื่อซักถามผู้ป่วยสมารถตอบได้ ไม่กลับไปเสพซ้ำและสามารถดำเนินชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ได้อย่างปกติ และมาติดตามผลอย่างต่อเนื่อง 4 ครั้งภายในระยะเวลา 1 ปี
บทที่ 5
สรุปกรณีศึกษาและข้อเสนอแนะ

ผู้ป่วยเด็กอายุ 13 ปี เพศชาย เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย เป็นบุตรคนเดียวของครอบครัวบิดาและ
ครอบครัวมีฐานะยากจน บิดาไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพผู้ป่วยอาศัยอยู่กับมารดา อาชีพรับจ้าง ที่ดื่มสุราทุกวันไม่สนใจบุตร ผู้ป่วยเริ่มดมกาวเมื่ออายุ 9 ปีเพราะรุ่นพี่ชวน 2 ปี ก่อนมาโรงพยาบาล เนื่องจากอาจารย์ที่โรงเรียนจับได้ส่งเข้าบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพ ณ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดขอนแก่น 14 วัน หยุดเสพได้ 2 เดือน ต่อมากลับดมกาวซ้ำเพราะสิ่งแวดล้อมที่บ้านไม่ดีและเพื่อนชวน ดม 1-2 ครั้ง/สัปดาห์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 ถูกตำรวจจับได้ข้อหาดมสารระเหยจึงส่งมาบำบัดรักษาตามคำวินิจฉัยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แบบควบคุมตัวไม่เข้มงวด เป็นเวลา 120 วัน ณ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดขอนแก่น ขณะอยู่รักษาทีมสหวิชาชีพและครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนในการบำบัดรักษาดังข้อวินิจฉัยการพยาบาล 5 ข้อ ดังนี้ 1.การเผชิญปัญหาไม่เหมาะสมเนื่องจากขาดทักษะการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง 2.ผู้ป่วยขาดความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่เนื่องจากเป็นเด็กที่มีวุฒิภาวะไม่เพียงพอ3.ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในกระบวน การบำบัดรักษาเนื่องจากคิดว่าตนเองไม่ได้ติดสารระเหย4.ผู้ป่วยนอนไม่หลับเนื่องจากมีความวิตกกังวลเรื่องการเรียน5.ผู้ป่วยมีโอกาสกลับไปเสพซ้ำหลังจำหน่ายเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ไม่เหมาะสม
จากปัญหาดังกล่าวได้มีการร่วมวางแผนกิจกรรมบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยกิจกรรมบำบัดรักษา ได้แก่ กลุ่มจิตบำบัด กลุ่มทักษะชีวิต กลุ่มป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ กลุ่มสุขศึกษา การให้คำปรึกษารายบุคคล ให้คำปรึกษาครอบครัวและมีการประเมินผล โดยให้ผู้ป่วยเกิดการยอมรับสภาพตนเองที่เป็นอยู่ ตระหนักถึงผลเสียต่างๆที่ตามมาจากการใช้สารระเหยผู้ป่วยสามารถอยู่บำบัดรักษาครบกำหนด 120 วัน และมาติดตามผลหลังการบำบัดรักษาครบทั้ง 4 ครั้งในระยะเวลา 1 ปี ไม่กลับไปใช้สารระเหยอีกทั้งสามารถทำหน้าที่ของตนเองในสังคมได้อย่างปกติสุข ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือให้กลับไปเรียนต่อส่วนครอบครัวได้รับการปรึกษาทำให้เข้าใจและปฏิบัติต่อผู้ป่วยได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะ
1. พยาบาลเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดสารระเหย พยาบาลต้องมีความ
พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เห็นอก เห็นใจผู้ป่วยและนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยแต่ละรายโดยเฉพาะถือเป็นสิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็กซึ่งต้องมีข้อตระหนักเพิ่มมากขึ้นทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
2. เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้ได้รับการส่งตัวมาโดยสำนักงานคุมประพฤติขอนแก่นส่งฟื้นฟูสมรรถภาพ
ควบคุมตัวแบบไม่เข้มงวด เป็นระยะเวลา 4 เดือน เนื่องจากผู้ป่วยเป็นเด็ก การจัดกิจกรรมกลุ่มต้องให้เจ้าหน้าที่ต้องคอยดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษเพราะอ่านหนังสือไม่ออกต้องไปเชิญอาจารย์การศึกษานอกโรงเรียนเข้ามาสอนหลักสูตรการอ่านเขียนระยะสั้นเมื่อผู้ป่วยกลับบ้านสามารถจะนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
3. บทบาทพยาบาลเป็นสิ่งที่สำคัญในการโน้มน้าวญาติให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดรักษาผู้ป่วยและจูงใจให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรักษาและมาตามนัด โดยโน้มน้าวผู้ป่วยให้ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ให้ได้ อธิบายกระบวนการบำบัดรักษา และสมัครใจมาติดตามผลด้วยตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่จะมีส่วนทำให้ผู้ป่วยเลิกสารระเหยได้ การช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดแต่ละคนจะต้องดูแลทั้งองค์รวมและควรบูรณาการมิติต่างๆของทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันให้ครอบคลุมกับปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด
บรรณานุกรม

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข . ( 2533 ). เอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับสารระเหย. กรุงเทพฯ : ราชทัณฑ์เรือนจำกลางคลองเปรม.
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. ( 2542 ). มาตรฐานการบริการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช. นนทบุรี : สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข .
กลุ่มการพยาบาล สถาบันธัญญารักษ์. ( 2546 ). คู่มือการใช้มาตรฐานกระบวนการพยาบาลผู้ป่วยยาเสพติด. ปทุมธานี : โรงพยาบาลธัญญารักษ์.
กัลยา ธรรมคุณ. (2538). การพยาบาลผู้ป่วยสารระเหย. ปทุมธานี : สถาบันธัญญารักษ์.
ธงชัย อุ่นเอกลาภ. (2536). เอกสารทางวิชาการ การบำบัดรักษาผู้ติดสารระเหย. ปทุมธานี : สถาบัน
ธัญญารักษ์.
วิพร เสนารักษ์. (2536). การวินิจฉัยทางการพยาบาล : กระบวนการพยาบาล ทฤษฎีและการนำไปใช้. ขอนแก่น : ขอนแก่นการพิมพ์.
พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์. ( 2522 ). การวางแผนการพยาบาล : การปฏิบัติการพยาบาลแนววิทยาศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยเกษม.
เสริม บุณณะหิตานนท์. ( 2517 ). เอกสารทางวิชาการ เรื่อง ยาเสพติดให้โทษ : ปทุมธานี : สถาบันธัญญารักษ์.
สุชาติ ตรีทิพย์ธิคุณ. ( 2539). การรักษาผู้ป่วยยาเสพติดขั้นถอนพิษยา. ขอนแก่น : ศูนย์บำบัดรักษายา
เสพติดขอนแก่น.
สุจิตรา เหลืองอมรเลิศและคณะ. ( 2539 ). กระบวนการพยาบาล ทฤษฎีและการนำไปใช้. ขอนแก่น : ขอนแก่นการพิมพ์.
อรพรรณ บุญลือธวัช. ( 2545 ). การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช. กรุงเทพฯ : กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.
Friedman.M.B. (2003) . Family Nursing Research. New Jersey : Prentice Hall.
ผู้จัดทำนายอิทธิศักดิ์ พลงาม